ประวัติ หลวงปู่กรับ วัดโกรกกราก ตำบลโกรกกราก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร


หลวงปู่กรับ ญาณวัฑฒโน พระครูธรรมสาคร (กรับ) วัดโกรกกราก จ.สมุทรสาคร


วัดโกรกกราก ต.โกรกกราก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เป็นหนึ่งในวัดเก่าแก่ที่มีทั้งพระพุทธรูปชื่อดัง และพระเกจิอาจารย์ทรงวิทยาคม โดยพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ก็คือ "หลวงพ่อปู่" ซึ่งประดิษฐานเป็นมิ่งขวัญของชาวลุ่มน้ำมหาชัยและใกล้เคียงมาอย่างยาวนาน ซึ่งมีเอกลักษณ์เด่นเป็นที่กล่าวขวัญด้วยการสวมแว่นตาดำ

ส่วนพระเกจิอาจารย์ชื่อดังก็คือ พระครูธรรมสาคร หรือหลวงปู่กรับ ญาณวัฑฒโน อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 5 และอดีตเจ้าคณะตำบลมหาชัย เขต 2 พระสงฆ์ทรงวิทยาอาคม เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวมหาชัยในยุคสมัยหนึ่ง

ประวัติ หลวงปู่กรับ ท่านมีนามเดิมว่า "กรับ" นามสกุล "เจริญสุข" เกิดเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2436 ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 2 ปีมะเส็ง จุลศักราช 1255 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่บ้านบางปิ้ง ต.นาดี อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เมื่ออายุครบบวชได้บรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดราษฎร์รังสรรค์ ต.คอกกระบือ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ตรงกับวันที่ 12 มี.ค. 2456 โดยมี พระครูสมุทรคุณากร วัดตึกมหาชยาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการโต วัดโกรกกราก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการชิด วัดราษฎร์รังสรรค์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "ญาณวัฑฒโน"

ครั้นอุปสมบทแล้วได้จำพรรษาศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยอยู่ที่วัดราษฎร์รังสรรค์ จนมีความรู้ความสามารถพอที่จะรักษาตัวได้ จึงย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดโกรกกราก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2463 จึงได้รับการแต่งตั้งจากทางคณะสงฆ์ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโกรกกราก

เมื่อดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสแล้ว ท่านได้ริเริ่มพัฒนาวัดให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง และในปี พ.ศ.2485 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลมหาชัย เขต 2 ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูชั้นเอกในราชทินนาม "พระครูธรรมสาคร"

หลวงปู่กรับ เป็นพระที่ทรงวิทยาคมสูง จนมีผู้กล่าวขวัญกันว่า "ถ้ามีเหรียญหลวงปู่กรับแขวนคอแล้ว จะแคล้วคลาดจากภยันอันตรายทั้งปวง ถึงจะตกระกำลำบากอยู่ที่ใด ก็จะได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย" ท่านประกอบคุณงามความดีและประพฤติพรตพรหมจรรย์มั่นคงตลอดมา ตั้งแต่ได้รับบรรพชาอุปสมบท จนถึงกาลอวสานแห่งชีวิต เมื่อวันเสาร์ที่ 7 ก.ย. พ.ศ. 2517 สิริอายุ 81 ปี

ทางวัดได้หล่อรูปเหมือนของท่านไว้ให้ลูกศิษย์ และผู้เลื่อมใสศรัทธาได้กราบไหว้สักการะ โดยมีผู้นำแผ่นทองมาปิดองค์ท่านจนเหลืองอร่าม และนำแว่นตามาถวายท่านเช่นเดียวกับหลวงพ่อปู่ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องตา มีความเชื่อว่าจะช่วยให้ดีขึ้นด้วยบารมีของท่านทั้งสอง

สำหรับวัตถุมงคลที่สร้างขึ้นในสมัยหลวงปู่กรับ อาทิ เหรียญหลวงพ่อปู่ พิมพ์เสมา รุ่นแรกปี 2502 เนื้อเงินและทองแดงกะไหล่ทอง, เหรียญรูปไข่หลวงปู่กรับ รุ่นแรก ปี 2510 เหรียญหลวงปู่กรับพิมพ์อาร์ม และพิมพ์เสมา หันข้างปี พ.ศ. 2515 นอกจากนี้ ยังมีพระสมเด็จรุ่นวัวชน ปี 2505 พระสมเด็จ ปี 2515 ซึ่งพระเครื่องของท่านมีบรรจุอยู่ในรายการประกวดพระเครื่อง เหรียญคณาจารย์ด้วย

 วัดโกรกกราก ตั้งอยู่เลขที่ 188 ถนนธรรมคุณากร ตำบลโกรกกราก อำเภอเมือง ฯ จังหวัดสมุทรสาคร สังกัด มหานิกาย
 

สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2375 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2423 ตรงกับกาลสมัยของรัชกาลที่ 2 ในปัจจุบันมีเนื้อที่ประมาณ 189 ไร่ 25 ตารางวา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน โดยมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ใส่แว่นตา เนื้อศิลาแลง สมัยสุโขทัย ซึ่งประชาชนทั่วไปเรียกท่านว่า หลวงพ่อปู่
ในสมัยพระอธิการโต อดีตเจ้าอาวาส ได้เกิดเพลิงไหม้เสนาสนะต่าง ๆ จนหมดสิ้น เหลือแต่อุโบสถเท่านั้น หลักฐานต่าง ๆ ของวัดจึงถูกเพลิงเผามอดไหม้ไปด้วย
ตามประวัติเดิมบริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวจีน สิ่งปลูกสร้างวัดที่น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้ก็คือ อุโบสถเป็นอุโบสถไม้สักหลังคาแอ่นคล้ายเก๋งจีน เสาระเบียงเฉียงออกทั้งสี่ด้าน บริเวณด้านหน้ามีเจดีย์สององค์ มีเรือสำเภาจีนสร้างด้วยคอนกรีต องค์ละ 1 ลำ ลักษณะคล้ายกับ เรือสำเภาจีนของวัดยานนาวา กรุงเทพ ฯ แต่เล็กกว่า กาลต่อมาได้สูญหายไปหมดแล้วเหลือแต่องค์เจดีย์
ในจดหมายเหตุ การเสด็จประพาสต้น ของสมเด็จกรมพระยาดำรงค์ราชานุภาพ ก็ปรากฏชื่อวัดโกรกกรากอยู่ด้วย คือเมื่อวันที่ ๓๐ เดือน กรกฎาคม พ.ศ.2448 เรือพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จอดเทียบท่าวัดโกรกกราก เมื่อครั้งเสด็จประพาสต้นที่ล่องเรือมาจากบ้านแหลม จ.เพชรบุรี แวะซื้ออาหารที่บ้านท่าฉลอม และมาแวะทำอาหารที่ศาลาท่าน้ำ โดยท่านสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ขึ้นมาบนวัดเพื่อให้พระรดน้ำมนต์ เนื่องจากเมาเรือ
สำหรับองค์หลวงพ่อปู่ในอุโบสถนั้น เคยประดิษฐานอยู่ที่วัดช่องสะเดา เป็นวัดร้างเก่าแก่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ซึ่งสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ปรักหักพังหมดแล้ว ดังนั้นชาวรามัญบ้านกำพร้า จึงได้อัญเชิญมาทางเรือสององค์ องค์หนึ่งเนื้อสำริด อีกองค์หนึ่งเนื้อศิลาแลง ล่องเรือมาตามแม่น้ำท่าจีน พอเรือใกล้ถึงหน้าวัดโกรกกราก ได้เกิดลมพายุฝนตกหนัก ล่องเรือต่อไปไม่ได้ จึงนำเรือมาจอดหลบลมฝนริมคลองข้างวัด พอจอดเรือเรียบร้อย ก็ช่วยกันยกพระศิลาแลงขึ้นมาบนฝั่งเพื่อไม่ให้ถูกน้ำฝนเซาะ เมื่อลมฝนสงบแล้ว จึงยกพระศิลาแลงลงเรือ เพื่อจะล่องต่อไป แต่ ปรากฏว่ายกไม่ขึ้น ทำอย่างไรก็ยกไม่ขึ้น และหนึ่งในจำนวนชาวรามัญบ้านกำพร้าที่อยู่ในเหตุการณ์ ได้อธิฐานว่าถ้าพระศิลาแลงจะอยู่วัดโกรกกราก ก็ขออัญเชิญพระศิลาแลงไปประดิษฐานยังอุโบสถ ปรากฏว่ายกขึ้น นับแต่นั้นมาทางวัดจึงมีพระศิลาแลงเป็นพระประธานในอุโบสถตั้งแต่บัดนั้นจวบจนถึงปัจจุบัน
ส่วนสาเหตุที่ต้องใส่แว่นดำนั้น เนื่องจากครั้งหนึ่งได้เกิดโรคตาแดงระบาดไปทั่วบ้านโกรกกราก การแพทย์ยังไม่เจริญ รักษากันตามมีตามเกิดแต่ก็ไม่หาย ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาองค์พระศิลาแลงกันมานาน จึงได้พากันมาบนบานศาลกล่าว ถ้าตาหายเจ็บหายแดง จะนำแผ่นทองมาปิดที่ดวงตาขององค์พระศิลาแลง ผล ปรากฏว่าตาหายแดงกันทั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงได้นำแผ่นทองมาปิดที่ตาขององค์พระศิลาแลงเต็มไปหมด
ครั้นพระครูธรรมสาคร ญาณวฒโน หรือ หลวงปู่กรับ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส มาพบเห็นเข้าจึงหาอุบายเพื่อที่จะไม่ให้ญาติโยมปิดทองที่ดวงตาองค์พระศิลาแลง จึงได้นำแว่นตามาใส่ให้กับองค์พระศิลาแลง หลังจากองค์พระศิลาแลงใส่แว่นตาแล้ว ชาวบ้านโกรกกรากและใกล้เคียง จึงได้นำแว่นตามาถวายแทนการปิดทองที่ดวงตา จนถือปฏิบัติเป็นประเพณีตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และได้ขนานนามท่านว่าหลวงพ่อปู่เล่าสืบกันว่าในอดีต บ้านท่าฉลอมและบ้านท่าจีน เป็นเมืองทำมาค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าของชาวจีนโพ้นทะเล สมัยนั้นใช้เรือสำเภาใบสองเสาบรรทุกสินค้าเข้ามา พอเรือแลนผ่านหน้าวัดโกรกกราก ก็จุดประทัดไหว้หลวงพ่อปู่ เพื่อขอพรให้สินค้าขายดี พอสินค้าหมดเดินทางกลับก็จุดประทัดไหว้หลวงพ่อปู่ ขอให้เดินทางกลับถิ่นฐานด้วยความปลอดภัยซึ่งชาวจีนถือปฏิบัติเช่นนี้ตลอดการติดต่อค้าขายทางเรือ
ต่อมาเรือประมง เมื่อจะออกทะเลหาปลา ก็จุดประทัดไหว้หลวงพ่อปู่ตามแบบอย่างชาวจีนด้วย รวมถึงการค้าขายทางบก พ่อค้าแม่ค้าก็มักยึดถือตาม ๆ กันมา แม้แต่สาธุชนที่มาไหว้หลวงพ่อปู่ในปัจจุบันส่วนมากก็จุดประทัดถวายหลวงพ่อปู่ เป็นประจำทุก ๆ วันเช่นเดียวกัน ส่วนคนในพื้นที่ถ้าขับยวดยานพาหนะผ่านโบสถ์หลวงพ่อปู่ก็จะบีบแตรถวายสักการะองค์หลวงพ่อปู่ทุกครั้ง
ซึ่งโบสถ์หลวงพ่อปู่จะเปิดให้ผู้มาทำการสักการะกราบไหว้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐ น.๑๙.๐๐ น. ส่วนในทุกวันพุธ และวันเสาร์จะมีการจัดตลาดนัดนานาชาติ เป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยรายได้ทั้งหมดนำมาบูรณะปฏิสังขรณ์วัด
ด้วยความอัศจรรย์ใจและศรัทธาในพุทธาภินิหาร จึงพร้อมใจกันจัดงานนมัสการขึ้น ตรงกับวันกลางเดือนยี่ (ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 2) ของทุกปีตลอดมา
ครั้งหนึ่ง มีหมอไสยศาสตร์จอมขมังเวทย์ มองเห็นภายในองค์หลวงพ่อปู่เป็นทองคำเกิดความโลภอยากได้ทอง ในคืนหนึ่ง ได้เข้าไปลักลอบเจาะช่องท้องหลวงพ่อปู่ แต่ปรากฏว่าไม่พบทอง แต่พบอะไรไม่ทราบ ถึงกับเสียสติบ้าคลั่ง และตายในเวลาต่อมา
พระครูธรรมสาคร (หลวงปู่กรับ ญาณวฑฺฒโน) ลงไปทำวัตรเข้าในโบสถ์ ได้พบเข้า จึงนำทองคลุกรักษ์อุดรอยเจาะนั้นไว้ และทำพิธีบวงสรวงสักการะ ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑) และในวันนี้ของทุกปีจึงเป็นที่มาของ (วันไหว้หลวงพ่อปู่) ในอดีตเรียกวันนี้ว่าวันแซยิดหลวงพ่อปู่
และวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2527 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ โดยทางเรือมานมัสการ องค์หลวงพ่อปู่และพักเยี่ยมข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนที่วัดนี้ นับเป็นมหามงคลแก่วัดโกรกกราก และชาวหมู่บ้านตำบลโกรกกรากเป็นอย่างยิ่ง