สมเด็จพระสังฆราช แพ วัดสุทัศน์เทพวราราม



พระสังฆราชองค์ที่ 12 พ.ศ. 2481-2487

สมเด็จพระสังฆราช วัดสุทัศน์เทพวราราม พระนามเดิมว่า แพ พระฉายานาม ติสสเทว ประสูติในรัชกาลที่ 4 วันพุธ เดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช 1218 ตรงกับวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2399 บิดาชื่อ นุตร์ มารดาชื่อ อ้น เป็นชาวสวนบางลำภูล่าง อำเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรี มีพี่น้องร่วมมารดาบิดาเดียวกันรวม 7 คน คือ
1. นางคล้าม
2. สมเด็จพระสังฆราช (แพ)
3. หลวงพุทธพันธพิทักษ์ (อยู่)
4. นางทองคำ พงษ์ปาละ
5. นางทองสุข
6. นายชื่น
7. นายใหญ่
           เมื่อพระชนมายุได้ 7 ขวบ ได้ไปศึกษาอักขระสมัยอยู่ที่วัดทองนพคุณ เนื่องจากท่านบิดาเลื่อมใสในสมเด็จพระวันรัต (สมบูรณ์) มาตั้งแต่ท่านยังครองวัดนพคุณ ครั้นชนมายุได้ 13 ปี จึงพาไปถวายเป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัต (สมบูรณ์) เมื่อครั้งยังเป็นพระธรรมวโรดม มาอยู่วัดราชบูรณะ ท่านจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ. 2411 แล้วกลับไปเล่าเรียนอยู่วัดทองนพคุณตามเดิม ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักพระอาจารย์โพ วัดเศวตรฉัตร

ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 เมื่อชนมายุได้ 16 ปี สมเด็จวันรัต (สมบูรณ์) ให้ไปรับมาอยู่กับท่านที่ วัดพระเชตุพน เพราะสมเด็จพระวันรัต (สมบูรณ์) ได้มาอยู่ในวัดนั้น ได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมกับสมเด็จพระวันรัต (สมบูรณ์) เป็นพื้น นอกจากนั้นได้เล่าเรียนกับเสมียนตาสุขบ้าง พระโหราธิบดี (ชุ่ม) บัาง พระอาจารย์โพบ้าง ได้เข้าสอบพระปริยัติธรรมเป็นครั้งแรกที่พระที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เมื่อปี พ.ศ. 2419 แต่แปลตกหาได้เป็นเปรียญในปีนั้นไม่

และในปี พ.ศ. 2419 นั้นเอง อายุครบอุปสมบท แต่สมเด็จพระวันรัต (สมบูรณ์) อาพาธ ต้องอยู่ประจำเพื่อพยาบาล จึงมิได้มีโอกาสอุปสมบท และเมื่อสมเด็จพระวันรัต (สมบูรณ์) ใกล้ถึงมรณภาพนั้น ท่านแนะนำให้ไปอยู่เป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัต (แดง) วัดสุทัศน์ แต่ครั้งยังเป็นพระเทพกวี

ครั้นสมเด็จพระวันรัต (สมบูรณ์) มรณภาพแล้ว จึงได้ไปถวายตัวเป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัต (แดง) แล้วอุปสมบทที่วัดเศวตรฉัตรอันอยู่ใกล้เป็นบ้านและสำนักเรียนเดิม เมื่อปี พ.ศ. 2422 แล้วมาอยู่ที่วัดสุทัศน์กับสมเด็จพระวันรัต (แดง) ต่อมา ในตอนนี้ได้เล่าเรียนกับสมเด็จพระวันรัต (แดง) เป็นพื้นและได้ไปเรียนกับสมเด็จพระสังฆราช (สา) วัดราชประดิษฐ์บ้าง

เมื่อสมเด็จพระวันรัต (แดง) เมื่อครั้งยังเป็นพระเทพกวี ได้เลื่อนเป็น พระธรรมวโรดม ได้ตั้งให้ท่านเป็นพระครูใบฎีกา ใน ฐานานุกรมตำแหน่งนั้น แล้วเลื่อนเป็นพระครูวินัยธรโดยลำดับ เมื่อเป็นพระครูวินัยธรได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมเป็นครั้งที่ 2 ที่พระที่นั่งพุทธไธสวรรย์ เมื่อปี พ.ศ. 2425 ได้เป็นเปรียญ 4 ประโยค ต่อมาปี พ.ศ. 2428 เข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกเป็นครั้งที่ 3 ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แปลได้อีกประโยค 1 รวมเป็น 5 ประโยค

ปี พ.ศ. 2423 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระศรีสมโพธิ์ ถึงปี พ.ศ. 2439 อันเป็นวันในรัชกาลแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครบหมื่นวันแห่งการเสวยราชย์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเสมอพระราชาคณะชั้นเทพในราชทินนามเดิม พระราชทานตาลิปัตรแฉกประดับพลอย และเพิ่มนิตยภัต ในคราวเดียวกันกับที่ได้โปรดให้ พระธรรมวโรดม (แสง) วัดราชบูรณะ เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

ถึงปีจอ พ.ศ. 2441 ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระเทพโมลี สถิต ณ วัสดุทัศน์เทพวราราม ราชวรมหาวิหาร มีนิตยภัตเดือน 4 ตำลึงกึ่ง

ต่อมา พ.ศ. 2443 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระเทพโมลีเป็นพระธรรมโกศาจารย์ สุนทรญาณนายกตรีปิฏกมุนี มหาคณาธิบดีสมณิศร บวรสังฆราม คามวาสี สถิต ณ วัดสุทัศน์เทพวราราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง

ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานหิรัญบัฎ ทรงเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่พระพรหมมุนี เมื่อปี พ.ศ. 2455

ต่อมาถึงปีกุน พุทธศักราช 2466 ได้รับพระราชทานสุพรรณบัฏเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่อวันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน

ครั้นถึง พ.ศ. 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ได้ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระวันรัต

หลังจากที่ได้รับพระสุพรรณบัฏเป็นสมเด็จพระวันรัต เจ้าคณะใหญ่หนใต้ แต่ พ.ศ. 2472 มา ได้ปกครองคณะสงฆ์ให้เจริญเรียบร้อยก้าวหน้ามาโดยลำดับ มิได้ระส่ำระส่าย เป็นไปในทางวิวัฒนาการ ผู้อยู่ในบังคับบัญชาก็ได้รับความสุขสำราญชื่นชมยินดี ความติดขัดแม้จะมีก็ระงับได้ด้วยความสุขุมปรีชา เป็นที่พำนักปรึกษาของเจ้าคณะซึ่งมีข้อความข้องใจในการบริหาร ชี้แจงนโยบายการบริบาลคณะสงฆ์ โดยสันติวิธีเป็นที่นิยมยินดีของพุทธบริษัททั่วไป

การปกครองคณะสงฆ์ร่วมในจังหวัดพระนครนั้นเล่าตั้งแต่แรกเริ่มจัดระเบียบเข้าสู่ระบอบใหม่ในทำนองการคณะแขวง สมเด็จก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะแขวงดำรงตำแหน่งแต่เดิมมา ครั้งก่อนเรียกว่าแขวงสำเพ็ง ครั้งยุคต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นแขวงคณะนอก จังหวัดพระนคร ในคราวที่ฝ่ายอาณาจักรโอนอำเภอพระโขนงมาขึ้นจังหวัดพระนครพอดี ในคราวที่ฝ่ายอาณาจักรยุบฐานะจังหวัดมีนบุรี อำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดนั้น คืออำเภอมีนบุรี อำเภอบางกะปิ อำเภอลาดกระบัง อำเภอหนองจอก ก็โอนมาขึ้นในจังหวัดพระนคร การคณะสงฆ์ในอำเภอนั้น ๆ ทั้งหมดก็โอนมาขึ้นกับคณะแขวงนอก จังหวัดพระนคร ต้องเพิ่มภาระในการปกครองขึ้นอีกมาก กระนั้นก็สู้บั่นบากควบคุมการคณะให้เรียบร้อยเจริญดีเป็นลำดับมา

ในด้านการศึกษา ก็ได้แนะนำปลูกภิกษุสามเณรให้เกิดแนะนำให้เกิดอุตสาหะในการเรียนการสอน เพื่อการศึกษาแพร่หลายดี จึงได้ขอให้ทางการเปิดสถานที่ทำการสอบความรู้ นักธรรมขึ้นเป็นประจำ ในอำเภอนั้น ๆ จนเป็นปึกแผ่นถาวรมาจนถึงยุคนี้ ถึง พ.ศ. 2479 เมื่อตำแหน่งปลัดแขวงในพระนครว่างลง สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์วัดราชบพิธ จึงได้มีพระบัญชาให้ย้ายท่านเข้ามาเป็นปลัดแขวงในพระนคร และท่านก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ได้เรียบร้อยตลอดมา

ในส่วนพระปริยัติธรรมท่านได้รับหน้าที่เป็นแม่กองสนามหลวงฝ่ายบาลีทำการสอบความรู้พระปริยัติธรรมพระภิกษุสมเณรในพระราชอาณาจักรตั้งแต่ พ.ศ. 24712474 รวม 4 ศก การ

ในส่วนมหาเถรสมาคมนั้น ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการด้วยรูปหนึ่งตั้งแต่เดิมมา ได้ปฏิบัติการให้เป็นไปตามหน้าที่ในฐานแห่งกรรมการเป็นอันดีเสมอต้นเสมอปลาย มิได้บกพร่องอุดมคติเป็นไปในทำนองเยภุยยสิกาวาท มุ่งหมายเป็นสำคัญก็คือ ถือมติส่วนรวมโดยสมานฉันท์มีใจมั่นอยู่ด้วยสามัคคี เพราะยึดอุดมคติเช่นนี้จึงทำให้ท่านเป็นที่เคารพในมหาเถรสมาคม กอปรทั้งที่ท่านสมบูรณ์ด้วยคุณวุฒิและวัยวุฒิเป็นที่สุด ในมหาเถรสมาคม จึงเป็นที่นิยมนับถือในฐานะเป็นประมุขสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย

และในคณะมหานิกายนั้น เมื่อเกิดมีอุปสรรคอันใดเข้ามาขัดขวาง ก็ได้อาศัยท่านเป็นหลักที่ปรึกษาหาทางที่จะหลีกลัดเข้าสู่สันติวิธีมิได้ท้อถอยและเห็นแก่ความเหนื่อยยาก ทั้ง ๆ ที่ทรงพระชราภาพมากแล้ว หากจะปลีกพระองค์ออกใฝ่สุขแห่งความสงบเฉพาะพระองค์แล้ว ก็จะเป็นเอกีภาวสุขได้อย่างสมบูรณ์แห่งจิตใจและสังขาร แต่พระองค์หาได้คิดเช่นนั้น ได้ทรงเห็นแก่พระศาสนาและความร่มเย็นของผู้ปฏิบัติธรรมอันยึดพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์เป็นสรณะ และเพื่อยืนยาวมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนาอันเป็นหลักของประชาชนชาวไทยทั้งมวล มิได้ทรงถือความชราภาพมาเป็นสิ่งกีดขวางการพระศาสนา ปฏิปทา และคุณูปการของท่านเพียบพร้อมด้วยศาสนกิจดังกล่าวมาแล้ว จึงเป็นมูลัฏฐาปนีย์ที่เด่นเป็นมิ่งขวัญของคณะสงฆ์ทั่วไป

ครั้นถึง พ.ศ.2481 รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 7 เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้าวัดราชบพิธสิ้นพระชนม์ลง ประจวบกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากยุโรปเข้ามาเยี่ยมพระนคร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระราชทานตาลิปัตรแฉกประจำตำแหน่งในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

แล้วทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกต่อประมุขสงฆ์ มีองค์พระสังฆราชเป็นประธานครั้นถึงสมัยมงคลกาลเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2482 จึงเป็นพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระสุพรรณบัฏ ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชที่พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย มีคำประกาศต่อไปนี้

เจ้าพนักงานได้เชิญพระสุพรรณบัฏไปส่งที่วัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2482 เวลา 14 นาฬิกา กับ 14 นาที
มีพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาพร้อมกับยกเศวตรฉัตรแ ล้วโปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชพระสุพรรณบัฎในวันนั้น เวลา 17 นาฬิกา พระสงฆ์
10 รูปเจริญพระพุทธมนต์ในพระอุโบสถ รุ่งขึ้น วันที่ 29 กันยายน เวลา 11 นาฬิกา พระสังฆ์รับพระราชทานฉันอาหารบิณฑบาต
แล้วเจ้าพนักงานตั้งบายศรีและแว่นเวียนเทียน สมโภชพระสุพรรณบัฎแล้วเป็นเสร็จการ

พระกรณียกิจต่าง ๆ

พระกรณียกิจต่าง ๆ ของสมเด็จพระสังฆราชแพนั้น ในฐานะที่พระองค์ดำรงตำแหน่ง ในขณะที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการจัดระเบียบการคณะสังฆ์ให้เข้าสู่รูปสมัยใหม่ ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ดังกล่าวแล้วพอสรุปได้ดังนี้

1. เสด็จเปิดประชุมสมัยสามัญแห่งสังฆสภา ที่เปิดครั้งแรกเมื่อวันวิสาขบูชาที่ 28 พฤษภาคม 2485 และได้ทรงตั้งพระมหาเถระในสังฆสภาให้ดำรงตำแหน่งตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 โดยครบถ้วน เพื่อบริหารศาสนกิจต่อไปฯ

2. ประกาศตั้งเจ้าหน้าที่พิมพ์พระไตรปิฎกสยามรัฐ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2484ฯ

3. ประกาศเรื่องการโอนวัดมหานิกายเป็นวัดธรรมยุติฯ

4. เลิกระเบียบการบำรุงการศึกษาปริยัติธรรม โดยจัดเป็นหมวด ๆ และมีรายละเอียดต่าง ๆ แต่ละหมวดเพื่อเป็นหลักการปฏิบัติฯ

พระอัธยาศัยของพระองค์ท่านนั้น ละมุนละม่อมอ่อนโยนเสวนาสนิทสนมกับคนทุกชั้น มิได้ถือพระองค์แม้ว่าจะได้มีตำแหน่งสูงสุดในทางฝ่ายพุทธจักรก็ตาม จึงเป็นที่นิยมรักใคร่ของคนทั่วไปทั้งฝ่ายคฤหัสถ์ และบรรพชิต ทรงเคร่งครัดในการปฏิบัติศาสนกิจ มีความสม่ำเสมออยู่เป็นนิจ ทรงดำรัสแต่น้อยคำและตรงไปตรงมา แต่มีความหมายลึกซึ้งและแจ้งชัด ทรงมีพระเมตตาคุณเป็นที่ตั้งและใฝ่ในทางสันติ เมื่อวิวาทาธิกรณ์เกิดขึ้นทรงหยั่งเอาด้วยเหตุและผลรักษาความเที่ยงธรรมไม่โอนเอียงและพร้อมที่จะทรงอภัยให้ทุกเมื่อ ทรงตรัสสิ่งใดออกไปแล้วย่อมเที่ยงตรง รังเกียจการสู่รู้ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร

เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง สมัยท่านผู้นำว่าอะไรว่าตามกัน ซึ่งมักจะพัวพันเข้ามาในคณะสงฆ์ด้วยแม้แต่การแสดงพระธรรมเทศนา ก็จะต้องอยู่ในช่วงที่ทางการจะตั้งหัวข้อ หรือแนวมาให้แสดง ซึ่งบางครั้งดูเหมือนจะไม่ใช่แสดงธรรมเทศนา เป็นการแสดงปาฐกถาหรืออะไรทำนองนั้นมากกว่าหรือไม่ก็ต้องส่งสำเนาเทศนาไปให้ทางการเซ็นเซ่อร์ ตรวจตรวจแก้ไขก่อน บางครั้งก็มีเสียดสีติเตียนฝ่ายตรงข้าม หรือที่ไม่สบอารมณ์ผู้ใหญ่ และก็เคยมีพระสงฆ์ใหญ่บางองค์ได้ยินยอมเป็นเครื่องมือของนักการเมืองสมัยนั้น เทศน์ไปตามความต้องการของผู้ยิ่งใหญ่ ครั้งหนึ่งได้อาราธนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้นไปแสดงพระธรรมเทศนาทางวิทยุกระจายเสียง ของทางราชการระหว่างที่นั่งรถไปกับผู้รับมอบหน้าที่มานิมนต์ และรับนโยบายมาชี้แจงด้วยผู้นั้นได้พร่ำแนะกับพระองค์ท่านไปในรถว่า ให้เทศน์อย่างนั้น ๆ ตามแนวนั้น ๆ พระองค์ทรงนิ่งฟังจนจบแล้วกล่าวสั้น ๆ ว่า นี่มึงเทศน์เองหรือจะให้กูเทศน์ทรงตรัสสั้น ๆ แต่มีความหมายลึกล้ำ ผู้แนะแนวทางเงียบกริบ แล้วพระองค์ก็เสด็จไปแสดงตามแนวธรรมของพระองค์ ไม่ใช่แนวที่คนสู่รู้มาอวดสอนและชักจูงไปในทางที่มิชอบด้วยสมณสารูป

ต่อมาพระองค์ทรงประชวรพระโรคชรากระเสาะกระแสะอยู่เรื่อย ๆ แต่เพราะพระองค์มีพระทัยเข้มแข็งยิ่งนัก ประกอบด้วยได้แพทย์ผู้สามารถถวายการพยาบาล จึงมีพระอาการคงอยู่ได้ตลอดมาจนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2487 ได้เริ่มประชวรเพราะโรคเดิมอีก แพทย์ได้ถวายการพยาบาลจนสุดความสามารถ พระอาการโรคได้ทรุดหนักลงทุกวันจนถึงวันที่ 26 เดือนเดียวกัน ก็ได้เสด็จดับขันธ์สิ้นพระชนม์ลงเมื่อเวลา 3.00 นาฬิกา ที่ตำหนักวัดสุทัศน์เทพวราราม สิริพระชนมายุ 89 โดยมีพระพรรษา 66 ทรงดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายกได้ 7 พรรษา

ได้รับพระราชทานน้ำสรงพระศพและโกศพระลองกุดั่นน้อยประดับพุ่มและเฟื่อง เครื่องสูง 5 ชั้น เครื่องประโคมสังข์แตร จ่าปี่ จ่ากลอง และกลองชนะ มีพระพิธีธรรมสวดอภิธรรมประจำพระศพและรับพระราชทานฉัน 15 วัน ประดิษฐานพระศพ ณ ตำหนักที่สิ้นพระชนม์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ทุกข์ ทุกกระทรวงทบวงกรม มีกำหนด 15 วัน แล้วทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานในสัตตวารที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนพระลองกุดั่นน้อย เป็น พระลองกุดั่นใหญ่ และจัดการพระราชทานเพลิงพระศพเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ณ เมรุหลวงวัดเทพศิรินทราวาศ เมื่อวันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488ฯ

ยงกิญจิ สมุททยธมมํ สพพนตํ นิโรธธมมํ

สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา

สิ่งอันใดที่ได้เกิดกำหนดขึ้น จะยั่งยืนค้ำฟ้าก็หาไม่

เกิดมาแล้วย่อมดับลับลงไป เป็นกฎในธรรมดามาช้านาน ฯ