บทที่ ๗ การถือพรหมจรรย์ในศีลเจพรตและการถือศีล ๙

บทที่ ๗ การถือพรหมจรรย์ในศีลเจพรตและการถือศีล ๙

หลักของ การรักษาศีลพรหมจรรย์ในการละจากกามคุณ หรือ ศีลข้อกาเม นั้น เป็นศีลข้อที่องค์พระศาสดาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติขึ้น โดยมิได้มีความเกี่ยวข้องกับการบัญญัติศีลเจพรตของพระมหาโพธิสัตว์แต่อย่างใด เพราะฉะนั้น ผู้ที่ถือศีลเจพรตจงทำความเข้าใจให้ถูกต้องไว้ด้วยว่า การถือศีลเจพรตมิได้มีการบัญญัติ หรือบังคับให้รักษาศีลข้อพรหมจรรย์ควบคู่กันไปแต่อย่างใด
หากผู้ใดมีความศรัทธาประพฤติปฏิบัติในการถือศีลเจพรต เพื่อ การละจากการกินเนื้อสัตว์ ควบคู่กันไปกับ การถือศีลข้อกาเมของพระพุทธองค์ ที่เป็นการเพิ่มเติมจากข้อบัญญัติของพระมหาโพธิสัตว์ ก็จะบังเกิดเป็นมหากุศลต่อผู้นั้นเอง ที่มีจิตใจ เป็นกุศลในการสมาทานศีลของพระพุทธองค์เพิ่มขึ้นอีกข้อหนึ่ง เพราะพระมหาโพธิสัตว์ผู้อธิษฐานจิตอยู่คู่โลกเพียงแต่บัญญัติศีลข้อไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันเท่านั้นเอง
ดังนั้น การถือศีลเจพรตนั้นสมควรที่จะ ต้องมีการพิจารณาแยกแยะให้ถูกต้องเป็น ๒ กรณีเสียก่อน คือ
๑) การถือศีลเจพรตในด้านการไม่เบียดเบียนสัตว์โดยเฉพาะ
๒) การถือศีลข้อกาเมของพระพุทธองค์ คือ เรื่องการละจากกามคุณอีกข้อหนึ่ง เป็นการเพิ่มเติม และควบคู่ไปกับ ศีลเจพรตเป็นกรณีที่สอง
เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะสมาทานศีลเจพรตก็ควรจะต้องพิจารณาและไตร่ตรองให้ถ่องแท้เสียก่อนว่า เรามีความพร้อมด้วย กาย วาจา ใจ ที่จะละจากเนื้อสัตว์โดยการไม่เบียดเบียนสัตว์เพียงอย่างเดียว หรือพร้อมที่จะละจากกามคุณควบคู่ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นสามีหรือภรรยาของตนอย่างถูกต้องก็ตาม ในระหว่างช่วงระยะเวลาสมาทานศีลเป็นครั้งคราว เพื่อได้รับอานิสงส์ของการสมาทานศีลเพิ่มขึ้น
โดยทั่วไปนั้น ผู้ที่อยู่ในพุทธศาสนามักจะประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ใน ศีล ๕ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันเป็นส่วนใหญ่ แต่ ผู้ที่สมาทานศีลเจพรตเพื่อการประพฤติปฏิบัติธรรม และต้องการรักษาศีลในด้านของการไม่เบียดเบียนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ได้อย่างแท้จริงนั้น สมควรที่จะต้องมีการรักษา “ศีล ๕” ของพระพุทธองค์ รวมกับ “ศีล ๔” ของพระมหาโพธิสัตว์ เรียกว่า “ศีล ๙” ซึ่งประกอบด้วยศีลดังต่อไปนี้ คือ
(๑) การรู้จักคุณค่า และรักษาสิ่งมีชีวิตทั้งปวง โดยละจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
(๒) ไม่พึงปรารถนาในทรัพย์สินที่มิใช่ของตน โดยละจากการลักทรัพย์
(๓) ไม่หมกมุ่นในกามคุณ หรือความใคร่ทั้งปวง โดยละจากการผิดลูกเมีย หรือคู่ชีวิตผู้อื่น
(๔) มีสัจจะ และรักษาความจริง โดยละจากการพูดเท็จ หรือพูดเหลวไหล
(๕) รู้จักรักษาสติ และควบคุมอารมณ์ของตนเอง โดยละจากการเสพติดของมึนเมา สิ่งมอมเมา หรือสิ่งที่จะเป็นเหตุให้ขาดสติทั้งปวง
(๖) ไม่เบียดเบียนตนเอง หรือผู้อื่น โดยการไม่บริโภคสิ่งที่มีชีวิต เลือดเนื้อ หรือวิญญาณ
(๗) มีเมตตาธรรม โดยการให้ความช่วยเหลือต่อเหล่ามนุษย์สัตว์ และสิ่งมีชีวิตวิญญาณทั้งหลาย
(๘) มีความยินดีต่อการกระทำดี โดยร่วมอนุโมทนา หรือช่วยเหลือกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ต่อสรรพ สัตว์ทั้งหลาย
(๙) มีการวางเฉยในทุกข์ หรือสิ่งทั้งปวงที่เบียดเบียน และไม่สนับสนุนการเบียดเบียนด้วยการให้อภัยและไม่โต้ตอบโดยการไม่ยินดียินร้าย