บทที่ ๘ หลักการทำสมาธิและอานิสงส์การทำสมาธิตามแนวของพระมหาโพธิสัตว์

บทที่ ๘ หลักการทำสมาธิและอานิสงส์การทำสมาธิตามแนวของพระมหาโพธิสัตว์
ในการรักษาศีลของพระมหาโพธิสัตว์ที่นอกเหนือไปจากการไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง ซึ่งจะเป็นเครื่องส่งผลให้ผู้ประพฤติปฏิบัติมีจิตใจเมตตา และบังเกิดความสงบเยือกเย็นด้วยแล้ว ยังมีหลักของการประพฤติปฏิบัติธรรม โดย การทำสมาธิเพื่อให้จิตมีพลังสมาธิที่แน่วแน่และบังเกิดความสงบ มีความผ่องใส ซึ่งเป็น การทำสมาธิที่มีมาก่อนครั้งพุทธกาล ตามแนวทางของพระมหาโพธิสัตว์ โดยการ กำหนดเดินลมปราณ ๓ ขั้นตอน คือ.-

การเดินลมปราณขั้น ๑ ตั้ง จุดเริ่มต้นอยู่ที่กลางทรวงอก หรือ จุดศูนย์รวมของจิต กำหนดเดินลมปราณลงมาที่สะดือ เดินลมปราณกลับขึ้นไปที่กลางทรวงอก และเดินลมปราณกลับสู่สะดืออีกครั้งหนึ่ง จึงค่อยเดินลมปราณขึ้นไปถึงจุดกึ่งกลางหน้าผาก แล้วเดินลมปราณกลับลงมาที่กลางทรวงอก ( คือจุดเริ่มต้น ) นับเป็น ๑ รอบ
การเดินลมปราณขั้น ๒ ตั้ง จุดเริ่มต้นอยู่ที่สะดือ กำหนดลมปราณขึ้นมาถึง กลางทรวงอก และเดินลมปราณกลับสู่ สะดือ อีกครั้งหนึ่ง จึงค่อยเดินลมปราณขึ้นไปถึง จุดระหว่างดวงตาทั้งสอง ( อย่าให้เลยจากคิ้วขึ้นไป เพราะอาจจะทำให้ปวดศีรษะได้ ) แล้วเดินลมปราณกลับมาที่สะดือ ( คือจุดเริ่มต้น ) นับเป็น ๑ รอบ
การเดินลมปราณขั้น ๓ ตั้ง จุดเริ่มต้นอยู่ที่กลางทรวงอก กำหนดเดินลมปราณลงมาถึง สะดือ และเดินลมปราณขึ้นไปถึง จุดกลางหน้าผาก เดินลมปราณกลับลงมา กลางทรวงอก และเดินลมปราณกลับขึ้นไปถึงจุดกลางหน้าผากอีกครั้งหนึ่ง จึงค่อยเดินลมปราณกลับลงสู่ทรวงอก ( คือจุดเริ่มต้น ) นับเป็น ๑ รอบ
ผู้ใดได้เข้าสู่การปฏิบัติใน ๓ ขั้นตอนนี้ด้วยความสม่ำเสมอ มีการผสมผสานขั้นตอนแต่ละขั้นของทั้ง ๓ ขั้นตอน เมื่อรวมกันได้ด้วยความสมดุล เกิดความชำนิชำนาญแล้ว ก็จะ เกิดประโยชน์ต่อการพิจารณา และสามารถแยกกายที่ทุกข์ทรมานกับใจที่สับสน หรือตัวจิตที่สับสนวุ่นวายให้แยกออกจากกันได้ เมื่อปฏิบัติได้ถึงขั้นนั้นแล้ว กายกับจิตจะเกิดการแยกการทำงานกันคนละหน้าที่ หรือเรียกว่ากายและจิตต่างรู้หน้าที่ของตัวเอง ซึ่งเป็นจุดที่จะ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ธาตุอากาศ” และ “ธาตุรู้” นั่นเอง
ธาตุอากาศ และ ธาตุรู้ จะเป็นมรรคเป็นผลที่บังเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติกับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติในการกำหนดเดินลมปราณ ๓ ขั้นตอน เพราะว่า ผู้ที่มีความพร้อมมูลด้วยเมตตา จิตใจย่อมไม่เกิดโทสะ หรือ ความโกรธ หรือเกิด ธาตุไฟ ได้ง่าย แต่จะเป็น จิตที่มีความสงบเปรียบประดุจอากาศที่นิ่ง และมีขอบเขตอย่างไม่รู้ประมาณ และจะเกิด ตัวรู้ อย่างไม่รู้ประมาณเช่นเดียวกัน
ธาตุอากาศ เหมือนกับความว่างเปล่า ซึ่งแท้ที่จริงมิใช่ความว่างเปล่า แต่มิสามารถเปรียบเทียบเป็นอย่างอื่นได้ จึงเรียกว่า ธาตุอากาศ
ธาตุรู้ ก็เป็นกรณีเดียวกัน เพราะตัวรู้นั้นไม่มีลักษณะหรือรูปให้เห็นได้เหมือนกับ ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งสามารถสัมผัส มองเห็น หรือรับรู้ได้
ทั้งสองธาตุนี้ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่มีอยู่ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะไม่เสื่อมสูญหรือเสื่อมสลาย ดังนั้น การพิจารณาปฏิบัติให้เกิดธาตุทั้ง ๒ นั้น หากสามารถแยกแยะธาตุทั้ง ๔ คือ แยกกายออกจากจิต หรือกายละเอียดได้อย่างมั่นคงแล้ว ธาตุอากาศหรือธาตุรู้นั้นจะอยู่ในช่องว่างของจิตและกายนี้
การที่จะแยกกายออกจากจิตได้ก็ต้อง เกิดจากการมีสติควบคุมธาตุทั้ง ๔ โดยการตัดตัวแปรปรวนซึ่งมีลักษณะเหมือนกับธาตุอากาศ หรืออาจมีผู้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นธาตุอากาศที่แท้จริง เมื่อเกิดลักษณะเช่นนี้ขึ้น จงตัดความเข้าใจนี้ออกก่อน ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า “อารมณ์” คือส่วนที่เป็นเครื่องฉาบติด หรือ ตัวที่ทำให้เกิดความแปรปรวนขึ้นในจิต ซึ่งตัวนี้จะ เป็นตัวเชื่อมระหว่างกายกับจิต ให้รู้สึกเกิดความเมื่อยล้า ปวด หรือเจ็บ อันจะเกิดการปรุงแต่งขึ้น และ จิตนี้จะเสริมแต่งให้เกิดธาตุไฟ หรือ มีอารมณ์แปรปรวน ฟุ้งซ่าน ให้เกิดความ เฉื่อยชา เกิดความ เมื่อยล้า
เพราะฉะนั้น หากสามารถตัดตัวอารมณ์นี้ออกไปได้ กายกับจิตจะแยกออกจากกัน โดยเด็ดขาด ทั้งนี้อยู่ที่ สติจะเข้ามาควบคุม และ มีการพิจารณาเป็นส่วนประกอบ เมื่อสามารถแยกกายกับจิตออกได้แล้ว ธาตุอากาศจะวิ่งเข้าแทนที่ก็จะเกิดธาตุทั้ง ๖ ขึ้นอย่างสมบูรณ์ครบถ้วน ที่เรียกว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ และ ธาตุรู้ หรือ ธาตุจิตรู้ นั่นเอง
การทำสมาธิตามหลักของพระมหาโพธิสัตว์โดย กำหนดการเดินลมปราณ ๓ ขั้นตอนนี้ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจและหมั่นฝึกฝนตนด้วยการปฏิบัติ อยู่เสมอๆ และผลของการปฏิบัติจะก่อเกิด อานิสงส์ที่มีประเด็นสำคัญ ดังนี้คือ
(๑) จิตมี พลังสมาธิ นำสู่ความสงบเยือกเย็นได้อย่างรวดเร็ว
(๒) ร่างกายบังเกิดความสมบูรณ์ด้วย ธาตุทั้ง ๖
(๓) สามารถ แยกกายออกจากจิต เพื่อละจากความทุกข์กายและทุกข์ใจ
(๔) เกิดตัวรู้ เมื่อสามารถปฏิบัติถึงขั้นที่เกิดมรรคผล