บทที่ ๖ การบิดเบือนของศีลเจพรต

บทที่ ๖ การบิดเบือนของศีลเจพรต

ศีลเจพรตนี้ได้มีการสืบทอดต่อๆ กันมา จนกลายเป็นลัทธิต่างๆ ขึ้นมาตามแต่ละพื้นภาคและประเพณีของแต่ละพื้นที่ จนมีการต่อเติมขึ้นมาภายหลังว่าพืชและผักบางชนิดเป็นของต้องห้ามในด้านศีลเจพรต ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว เหล่าพืชผักทั้งหลายเป็นสิ่งที่ไม่มีจิตวิญญาณ แต่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ ซึ่งธรรมชาติได้กำหนดให้มนุษย์และสัตว์กินพืชผักเหล่านี้เป็นอาหาร เพื่อการยังชีพและบำรุงร่างกายให้เจริญเติบโต และเพื่อความผาสุกของชีวิต แต่มิใช่ให้เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ดังนั้น การที่มนุษย์เราถือว่าสัตว์ใหญ่ย่อมกินสัตว์เล็กนั้น เป็นการผิดต่อธรรมชาติที่ได้กำหนดไว้ให้กินพืชผัก
พระมหาโพธิสัตว์ทรงมีพระเมตตาสงสารต่อเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย จึงบัญญัติข้อศีลตามธรรมชาติไว้ในข้อไม่เบียดเบียนสัตว์ แต่เหล่าพืชผักทั้งหลายมิได้อยู่ในข้อบัญญัติห้ามของพระมหาโพธิสัตว์ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่มีเลือดเนื้อและจิตวิญญาณ ที่จะก่อเกิดความผูกพันในการอาฆาตแค้นและพยาบาทจองเวรซึ่งกันและกัน การกินเนื้อสัตว์ที่มีจิตวิญญาณเท่านั้นจึงจะนับว่าเป็นการเบียดเบียน
ความบิดเบือนในการบริโภคผักของศีลเจพรตนี้ เกิดจากเหล่าสมมุติสงฆ์ผู้บวชอยู่ในนิกายมหายาน และเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์การรักษาศีลเจพรตของพระมหาโพธิสัตว์ ที่ได้ เห็นถึงประโยชน์และความสำคัญในการที่จะถือศีลการรักษาพรหมจรรย์ควบคู่กับการถือศีลเจพรต โดยเล็งเห็น โทษของผักบางชนิดที่มีกลิ่นคาว และเป็นยากระตุ้นให้เกิดความกำหนัดในด้านกามคุณได้ เช่น ผักชี ผักคึ่นไช่ กระเทียม ต้นหอม และสาหร่ายทะเล หรือแม้แต่เห็ดบางชนิด เป็นต้น
สมมุติสงฆ์เหล่านี้จึงได้บัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายบริโภคพืชและผักจำพวกนี้ แต่ ศีลเจพรตแท้ที่จริงแล้วมิได้ห้ามการกินพืชผักทุกชนิดแต่อย่างใด เพราะ พระมหาโพธิสัตว์เพียงแต่บัญญัติห้ามมิให้มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน คือ มิให้เบียดเบียนชีวิตและเลือดเนื้อของสัตว์ทั้งหลาย แต่การบริโภคสิ่งที่ไม่มีเลือดเนื้อและจิตวิญญาณอันเป็นประโยชน์ และเป็นอาหารของมนุษย์โดยไม่มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกันนั้น พระมหาโพธิสัตว์ไม่เคยได้บัญญัติห้ามไว้แต่ประการใด
ฉะนั้น ในกรณีที่ผู้ถือศีลเจพรตเป็น ผู้ที่มีจิตใจมั่นคงต่อสิ่งยั่วยุในกามารมณ์ และแน่วแน่ต่อการสมาทานศีล คือไม่กระทำในสิ่งที่จะเป็นการผิดศีลโดยมีสติควบคุมจิตใจตนเองได้ ถึงแม้ว่าพืชผักบางชนิดจะเป็นยาที่สามารถกระตุ้นตัณหาราคะให้เกิดความกำหนัดขึ้นได้ในระหว่างการสมาทานศีล ก็ย่อมที่จะสามารถบริโภคพืชผักได้ทุกชนิดที่มีอยู่ โดยไม่เป็นการผิดต่อศีลของพระมหาโพธิสัตว์แต่อย่างใด
สรุปข้อเท็จจริงได้ว่า เหล่าสมมุติสงฆ์ในบางภาคพื้น เห็นพืชผักบางชนิดเป็นยาบำรุงที่ก่อให้เกิดความกำหนัดก็ดีและเป็นยาที่ทำให้ร่างกายเกิดมีตัณหาราคะขึ้นก็ดี จึง ได้มีการบัญญัติเพิ่มเติมขึ้นเองว่าพืชธัญญาหารที่เป็นพืชผักนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดกิเลสในด้านกามคุณ และมิควรที่จะนำมาบริโภค โดย กำหนดขึ้นเป็นข้อห้ามของผู้ที่ถือศีลเจพรตจนเป็นการสืบทอดต่อๆ กันมาอย่างผิดๆ ในแต่ละยุคแต่ละสมัยมาเป็นเวลานาน จนเกิดเป็น ประเพณีที่ไม่ถูกต้องตามหลักของศีลเจพรตที่แท้จริง ขึ้นว่า พืชผักธัญญาหารที่ก่อเกิดความกำหนัดก็ดี หรือมีกลิ่นคาวก็ดี ให้ถือว่าผักเหล่านี้เป็นของคาว และห้ามมิให้มีการบริโภค
ในความเป็นจริงนั้น ผู้เป็นต้นบัญญัติของศีลเจพรต คือ พระมหาโพธิสัตว์ ผู้อธิษฐานจิตอยู่คู่โลก เพียงแต่สอนมนุษย์ ไม่ให้เบียดเบียนสัตว์ที่มีชีวิตจิตใจ มีเลือดเนื้อและมีจิตวิญญาณเท่านั้นเอง แต่ประเพณีในแต่ละพื้นภาคแต่ละยุคสมัยที่สืบทอดกันมาจนเรียกว่า บรรพบุรุษสืบทอด มานั้น เกิดความผิดเพี้ยนไปจากข้อบัญญัติของศีลเจพรตที่แท้จริง และยังไม่มีการแก้ไข หรือยอมรับตามหลักคำสอนที่ถูกต้องอยู่จนทุกวันนี้
นอกเหนือจากนั้น ยังมีการเข้าใจศีลเจพรตอย่างผิดๆ ในลักษณะของการเผยแพร่สืบทอดต่อกันมาโดยผิดพลาดและเข้าใจไม่ถูกต้อง กล่าวคือบางสถานที่ที่มีการถือศีลเจ ได้มีการนำเอาเนื้อสัตว์ เช่น หอยนางรม เป็นต้น มาปรุงแต่งเป็นอาหาร โดยมองแต่เพียงภายนอกด้วยตาเปล่า และอ้างว่าเป็นสัตว์ไม่มีเลือด แต่มิได้พิจารณาถึงการที่ สัตว์มีวิญญาณอันเป็นแก่นสำคัญที่จะเป็นหลักในการพิจารณาว่าเป็นการเบียดเบียนต่อชีวิตและเลือดเนื้อของสัตว์หรือไม่ ฉะนั้น จงพิจารณาและทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ เพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติตามข้อศีลเจพรตอย่างถูกต้อง ตามที่พระมหาโพธิสัตว์ได้มีข้อบัญญัติขึ้นเถิด