บทที่ ๕ การบริโภค นม - เนย - ไข่ ในศีลเจพรต

บทที่ ๕ การบริโภค นม - เนย - ไข่ ในศีลเจพรต


เรามักจะได้ยินคำถามอยู่เสมอว่า การบริโภค นม-เนย-ไข่ เป็นการผิดต่อข้อบัญญัติของศีลเจพรตหรือไม่ ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว ขอให้ทุกคนทำความเข้าใจว่าถึงแม้การบริโภคในลักษณะนี้จะ มิได้เป็นการเบียดเบียนเนื้อสัตว์โดยตรงก็ตาม แต่ควรจะ ต้องตระหนักว่านมเป็นสิ่งที่กลั่นมาจากเลือดในอก ซึ่งตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติถือว่าเป็นเลือดที่กลั่นมาจากทรวงอก และถูก นำมาเลี้ยงทารกให้เจริญเติบโต มาทุกยุคทุกสมัยจนถึงปัจจุบันนี้ และแม้แต่ เนยก็ยังทำขึ้นจากนมและไขสัตว์ คือส่วนหนึ่งที่นำมาจากร่างกายของสัตว์นั้นเอง สำหรับ ไข่นั้นถ้าจะเปรียบกับทางมนุษย์ก็เสมือนลูกในอุทร เพราะถือกำเนิดมาจากสายเลือดของผู้ที่เป็นพ่อและแม่ เป็นการสืบทอดวงศ์ตระกูล และเป็นสื่อสัมพันธ์ของความรักในครอบครัว ก็ย่อมที่จะมีความผูกผันอย่างลึกซึ้งในด้านจิตใจ รวมถึงการดูแลเอาใจใส่และการทะนุถนอมอย่างหวงแหน เพราะผู้เป็นพ่อแม่นั้นย่อมมีความรักใคร่ต่อผู้เป็นลูกของตนเปรียบดังดวงใจทีเดียว เพราะฉะนั้น จงใช้ปัญญาพิจารณาตรองดูเถิดว่าการที่ เรานำสิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายสัตว์ หรือสิ่งที่มีความผูกพันกันอยู่มาบริโภคเป็นอาหาร นั้น จะเป็นการเบียดเบียนหรือไม่ ซึ่งตามหลักความเป็นจริงแล้ว จะถือว่าไม่เป็นการเบียดเบียนไม่ได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นการเบียดเบียนมากหรือน้อยเพียงใด ยกตัวอย่างเช่น การบริโภคไข่ที่มีการผสมพันธุ์จากสัตว์ตัวผู้และตัวเมีย หรือการบริโภคไข่ชนิดที่เรียกว่า ไข่ลม ตามการพัฒนาด้านหลักวิชาของการเกษตร ซึ่งจะต้องนำมาแยกแยะในการพิจารณาให้ถูกต้องเสียก่อน พระมหาโพธิสัตว์ได้มีข้อกำหนดถึงการเบียดเบียนในลักษณะเช่นนี้ว่า ให้มี ข้อยกเว้น อยู่บ้างเหมือนกัน คือให้ถือว่าเป็นการบริโภคตามกาละเทศะ หรือตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นๆ ถ้าหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการนำเอานมที่กลั่นมาจากเลือดในอก หรือไขของโค และไข่เป็ด ไข่ไก่ หรือไข่อื่นๆ มาบริโภคเป็นอาหาร ก็ให้บริโภคแต่พอสมควรในขอบเขตที่พึงกระทำ ทั้งนี้และทั้งนั้น ถ้าหากเราละจากการบริโภคได้ก็จะเป็นกุศลต่อตัวเรา ที่ละจากการเบียดเบียนสัตว์ในลักษณะเช่นนี้ แต่ถ้าในกรณีที่จำเป็นต้องบริโภค ก็ให้ถือว่าเป็นการกระทำเพียงกลางๆ คือ มิถึงกับผิดศีลเจพรตที่เบียดเบียนเนื้อสัตว์เลยทีเดียว แต่ความบริสุทธิ์หมดจดในการสมาทานศีลเจพรตนั้นย่อมลดน้อยลง ตามส่วนของการบริโภค