บทที่ ๑ กำเนิดของศีลการไม่เบียดเบียน

บทที่ ๑ กำเนิดของศีลการไม่เบียดเบียน
สัตว์ทั้งหลายมีชีวิต มีวิญญาณ มีจิตสร้างความผูกพัน ดังนั้น การเบียดเบียนสัตว์เหล่านั้นโดย การพรากชีวิตเพื่อนำมาเป็นอาหาร ก็เท่ากับ เป็นการสะสมซากสัตว์ไว้ในร่างกาย สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ “กรรม” และ “ผลของกรรม” ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นมวลกิเลสอย่างมหาศาล สัตว์ต่างๆ ทั้งน้อยใหญ่ย่อมเดือดร้อนเมื่อต้องถูกพลีชีวิตเป็นอาหารให้ “มนุษย์” ผู้ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็น สัตว์อันประเสริฐผู้มีปัญญา ที่ได้กระทำการ เบียดเบียน ทำร้ายร่างกายและชีวิตสัตว์ที่มีความด้อยกว่าในทุก ๆ ด้าน
พระมหาโพธิสัตว์ ได้ทรงเล็งเห็นว่า พืช ผัก ถั่ว งา และผลไม้ต่างๆ ที่มีอยู่อย่างมากมายหลายชนิด ก็มีประโยชน์ต่อร่างกายที่จะทำให้มีชีวิตดำรงอยู่สืบต่อไปได้เช่นเดียวกับเนื้อสัตว์ คือ สามารถนำมาประกอบเป็นอาหารเพื่อประทังความหิวและการอยู่รอด และสามารถประกอบภารกิจในชีวิตประจำวันได้ โดยที่ไม่ต้องมีการเบียดเบียนสรรพสัตว์ทั้งหลาย
พระองค์จึงได้อธิษฐานจิตเป็น “พระโพธิสัตว์” อยู่คู่โลก เพื่อช่วยเหลือเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ตกทุกข์ได้ยาก และได้ทรงบัญญัติ “ศีลการไม่เบียดเบียน” ให้กับผู้ที่เห็นคุณค่า ในการประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในพระพุทธศาสนา อันได้แก่ผู้ที่มีจิตเป็นกุศล มีสติที่จะควบคุมตัวเอง ให้ละจากการเบียดเบียนเนื้อสัตว์ เพื่อให้มนุษย์เราทั้งหลายมีจิตใจที่จะ ละจากความเหี้ยมโหด ละจากกิเลส คือ ไม่มีจิตใจที่เหี้ยมโหดจนเกินไปในการที่จะนำสัตว์ทั้งหลายมาเป็นอาหาร ซึ่งเท่ากับไม่สร้างศัตรูในภักษาหาร เพื่อเป็นการเตือนใจให้ใช้สติปัญญาพิจารณาว่า มีสิ่งใดที่เราควรละจากกิเลส ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
ฉะนั้น จงระลึกอยู่เสมอว่า สัตว์ก็มีชีวิตจิตใจ มีอายุขัย มีพ่อแม่พี่น้อง รู้จักเศร้าโศก และรักตัวกลัวตายเหมือนกับมนุษย์เรา เช่นกัน คือ รู้จักดีใจและเสียใจ เว้นแต่เพียงว่าสัตว์ทั้งหลาย มีสติปัญญาน้อย และ มีความโง่เขลากว่า อีกทั้งยังสื่อภาษากับมนุษย์ไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่ ไม่ฆ่าสัตว์ และ ไม่เบียดเบียนสัตว์ จึงเป็นมหากุศล อย่างหนึ่งต่อตัวเรา
พระพุทธเจ้าที่อุบัติขึ้นในโลกทุกๆ พระองค์ ก็ล้วนแล้วแต่มีเมตตาจิตที่เปี่ยมล้นด้วยคุณธรรม แม้แต่ “องค์พระสิทธัตถะ” ที่ได้บรรลุเป็น “องค์พระศาสดาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” องค์ปัจจุบันที่อุบัติขึ้นในชมพูทวีป ผู้ค้นพบธรรมชาติ และผู้กำหนดให้พระพุทธศาสนาในปัจจุบันมีกำหนดอายุขัยถึง ๕,๐๐๐ ปี และบัญญัติให้พระสมมุติสงฆ์ในพุทธศาสนามีวินัย ๒๒๗ ข้อ หรือฆราวาสมีศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือแม้แต่ผู้ที่ถือศีลประจำใจเพียง ๓ ข้อก็ดี สิ่งเหล่านี้เป็นข้อบ่งชัดว่า พระพุทธองค์ทรงมีพระเมตตาต่อสัตว์โลกอย่างเปี่ยมล้น และเห็นคุณค่าของศีลการไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ดังจะเห็นได้จาก ศีลข้อแรกที่พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติขึ้นในพระพุทธศาสนา คือ “ การไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน” นั่นเอง
ในความเป็นจริงแล้ว “องค์พระสิทธัตถะ” และ แม้เหล่าเชื้อสายราชวงศ์ในตระกูลของพระองค์ ก็มิมีการเบียดเบียนเนื้อสัตว์ เพราะพระองค์ได้ทรงตระหนักถึง อานิสงส์ของการละเว้นจากการบริโภคเนื้อสัตว์ ว่า เป็นกุศลสูง อย่างหนึ่ง ที่สามารถตัดรอนมิให้ เจ้ากรรมนายเวร มาจองล้างจองผลาญซึ่งกันและกัน และสามารถพ้นจาก กฎแห่งกรรม ได้ง่ายกว่า
ผู้หลุดพ้น หรือผู้รู้แจ้งเห็นจริงทั้งหลาย สามารถยืนยันได้ว่าตลอดชีวิตของพระพุทธองค์ในชาติสุดท้าย พระพุทธองค์มิเคยเสวยเนื้อสัตว์ หรือเบียดเบียนเนื้อสัตว์ทั้งสิ้น เพราะพระองค์เป็นผู้เปี่ยมล้นด้วยบุญญาบารมีและบุญญาธิการที่กำลังจะเป็นบัวพ้นน้ำ และได้บรรลุเป็นองค์พระศาสดาตามที่อธิษฐานจิตไว้ จนบังเกิด พระรัตนตรัย หรือ พระพุทธ พระธรรม พระอริยะสงฆ์ ขึ้นในโลก
ศีลเจพรตของพระมหาโพธิสัตว์ ในการไม่เบียดเบียนสัตว์นี้ จึงเป็นศีลที่เหล่ามวลชนมนุษย์ทั้งหลายยอมรับว่า เป็นศีลที่มีคุณธรรมสูง และมีความดีเด่นสืบทอดมากับมนุษย์ทุกชนทุกเผ่าเป็นเวลาหลายพันปีมาแล้ว จนในปัจจุบันนี้ก็เป็นศีลข้อหนึ่งที่มนุษย์เราทั้งหลายมีความศรัทธากันมาก และยอมรับปฏิบัติสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ
เพราะฉะนั้น หากมนุษย์เราทั้งหลายได้มีการละจากการเบียดเบียนเนื้อสัตว์ แม้จะเป็นเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ก็ยังดีกว่ามิได้กระทำเลย เพราะจะเกิดเป็นบารมีบุญกุศลต่อตนเอง เพื่อสั่งสมเป็นทุนรอนต่อไปในภพหน้า ฉะนั้น จงพิจารณาดูกันเถิดว่าศีลเจพรตนี้มีประโยชน์ต่อมนุษย์เราและสัตว์ทั้งหลายเพียงใด