บทที่ ๒ หลักของการไม่เบียดเบียน

บทที่ ๒ หลักของการไม่เบียดเบียน

ตามหลัก “ศีลเจพรต” ของพระมหาโพธิสัตว์นั้น
· คำว่า “เจ” หมายถึงการไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
· คำว่า“เบียดเบียน” คือการกระทำต่อผู้อื่นในด้านจิตวิญญาณ หรือเป็นการเข่นฆ่าเพื่อนำร่างกายมาเป็นอาหารหรือวัตถุประสงค์อื่นๆ และก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อสัตว์ทั้งหลายซึ่งหมายถึงผู้ที่มีจิตวิญญาณ มีความผูกพัน และมีความรักตัวกลัวตายเช่นกัน
จุดเริ่มต้นของพระมหาโพธิสัตว์ที่อธิษฐานจิตอยู่คู่โลก คือการสอนให้มนุษย์ไม่เบียดเบียนผู้ที่อ่อนแอกว่า โดยการไม่บริโภคเนื้อสัตว์เป็นอาหาร แต่ให้รู้ถึงบาป บุญ คุณ โทษ ที่เอาเนื้อเขามากินเพื่อบำรุงบำเรอความสุขของตน โดยที่มนุษย์ทั้งหลายตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาเองว่า หากมนุษย์เราขาดเนื้อสัตว์แล้วร่างกายจะเจริญเติบโตไปไม่ได้ แต่ครั้งดึกดำบรรพ์มานั้น มนุษย์ เราทุกผู้ทุกนามก็อยู่กันมาแบบสัตว์ด้วยกันทุกผู้ จนเกิดการพัฒนามาถึงขั้นที่เรียกตัวเองว่า “สัตว์ประเสริฐ” และเรียก สรรพสัตว์ ทั้งหลายว่า “สัตว์เดรัจฉาน”
ในความจริงแล้ว เราก็เป็นสัตว์โลกด้วยกันทั้งสิ้น แต่มนุษย์เรามีการพัฒนาตัวเองให้สูงขึ้นกว่าสัตว์ทั้งหลาย คือมีมันสมองเพื่อนำมาใช้ในทางที่ถูกที่ควรก็ดี เพื่อการยังชีพอยู่ก็ดี หรือแม้แต่เพื่อการข่มเหงรังแกผู้อื่น และเป็นปัญหาต่างๆ ขึ้นมา จนกลายเป็นที่ยอมรับกันว่าสัตว์ประเสริฐสามารถรังแกสัตว์เดรัจฉานที่มีสติปัญญาด้อยกว่า หรือมีกำลังน้อยกว่า หรือในบางโอกาสสัตว์เดรัจฉานอาจจะมีกำลังมากกว่า แต่ก็ย่อมแพ้ภัยต่อผู้มีปัญญาเหนือกว่าฉันใดฉันนั้น
พระมหาโพธิสัตว์ได้บัญญัติว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ที่มีความอ่อนแอด้วยสติปัญญาก็ดี หรือด้วยกำลังก็ดี มนุษย์เราจึงควรจะ มีเมตตาจิต ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเนื้อสัตว์มาบริโภคเป็นอาหาร เพราะเนื้อสัตว์แต่ละชิ้นก็เปรียบเสมือนเนื้อมนุษย์แต่ละชิ้น เช่นเดียวกัน จงลองพิจารณาดูว่าหากเราเสียขาไปข้างหนึ่งเราจะมีความเสียดายอาลัยอาวรณ์หรือไม่ เพราะขาข้างนั้นก็มีเนื้อของเราติดอยู่ เช่นกัน
หากมนุษย์เราเข้าใจถึงการเปรียบเทียบนี้ เราก็จะสามารถมองเห็นทุกข์ของตัวเองว่า การเบียดเบียนผู้อื่น ผู้นั้นย่อมมีทุกข์ เราเบียดเบียนเขาจิตของเราก็ย่อมมีทุกข์ แต่หากเรา ละจากการเบียดเบียนได้ จิตของเราก็จะผ่องใส ไม่มัวหมอง ไม่ติดอยู่ในกิเลสของการเข่นฆ่าเบียดเบียนซึ่งกันและกัน อันจะเป็นอานิสงส์บารมีเกิดขึ้นที่จิต เพราะหากจิตของเราสะอาด คือไม่เบียดเบียนผู้อื่น หรือไม่เบียดเบียนตนเอง จิตของเราก็มิต้องไปกังวลถึงบาป บุญ คุณ โทษ ก็ย่อมที่จะได้ประโยชน์ ได้บุญกุศลกับผู้อื่น และกับตนเองอย่างแน่นอน
ส่วน ผู้ที่ยังติดรสการบริโภคเนื้อสัตว์ คือยังต้องการที่จะกินเนื้อสัตว์อยู่นั้น อาจ มีจิตที่เข้าข้างตัวเอง และค้านขึ้นมาว่ากินเข้าไปแล้วก็ไม่เห็นมีโทษอะไร เวลากินก็อร่อย แล้วจะไปเกิดความสังเวชตามที่กล่าวมานี้ได้อย่างไร นี่คือจิตของผู้ที่ มิได้มีการพิจารณาถึงบาป บุญ คุณ โทษ และ มัวแต่คำนึงถึงความต้องการในรสอร่อยที่ตนพอใจ แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ยอมรับรู้ในความทุกข์ของผู้อื่น ซึ่งจิตของผู้ที่มิได้มีการประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ในขั้นกลาง หรือขั้นสูง จะมีลักษณะเช่นนี้ เพราะ ผู้ที่มีจิตขั้นกลางจะเกิดความสังเวชต่อเนื้อสัตว์ ที่ตนกินเข้าไป และบางโอกาสก็มีความเพิกเฉย นั่นก็คือ ไม่เห็นถึงความเอร็ดอร่อยของเนื้อสัตว์ ที่จะบำรุงบำเรอกระเพาะและลิ้นของตนเอง
สำหรับ ผู้ที่มีจิตขั้นสูงนั้น จะไม่บริโภคเนื้อสัตว์เลย เพราะว่าสามารถตระหนักถึง บาป บุญ คุณ โทษ ของการบริโภคเนื้อสัตว์ได้ดี เปรียบเสมือนกับ คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่เปรียบมนุษย์เป็นบัว ๔ เหล่านั่นเอง เหล่าบัวที่กำลังจะพ้นจากน้ำก็ย่อมเล็งเห็นโทษของการเบียดเบียนสัตว์ แต่ผู้ที่ยังอยู่ในโคลนตมก็ย่อมจะเห็นพระธรรมคำสั่งสอนเป็นเรื่องตลกขบขันว่านรกสวรรค์ไม่มีจริง เห็นเพียงแต่ว่ามนุษย์เราเกิดขึ้นแล้วก็สูญไปเท่านั้นเอง
ฉะนั้น หากเราไม่เห็นว่าเนื้อของสัตว์เป็นสิ่งที่น่าเอร็ดอร่อย จิตของเราก็ย่อมจะสูงขึ้น เปรียบดังดอกบัวที่กำลังจะพ้นน้ำ และหากเรามีสติปัญญาหมั่นเพียรศึกษาประพฤติปฏิบัติในคำสอนของพระพุทธองค์ จิตของเราก็ย่อมจะสูงขึ้นถึงขีดสุด และย่อมที่จะมีโอกาสหลุดพ้นจากวัฏสงสารได้อย่างแน่นอน