บทที่ ๓ องค์ประกอบและอานิสงส์ของศีลเจพรต

บทที่ ๓ องค์ประกอบและอานิสงส์ของศีลเจพรต
ศีลของพระมหาโพธิสัตว์ คือ ศีลเจพรต ซึ่งมีมาก่อนสมัยพุทธกาล เป็นการ บัญญัติขึ้นโดยพระมหาโพธิสัตว์ ที่มุ่งเน้นในเรื่องของการไม่เบียดเบียนต่อตนเองและต่อผู้อื่น นั่นคือ การไม่บริโภคอาหารที่เป็นสิ่งมีชีวิต มีเลือดเนื้อ มีวิญญาณ และศีลเจพรตยังเป็น ศีลแห่งเมตตาธรรม เป็น ศีลที่ยินดีต่อความดี และ วางเฉยต่อสิ่งไม่ดีทั้งหลายทั้งปวง
ศีลของพระมหาโพธิสัตว์นี้หากผู้ใดถือปฏิบัติผู้นั้นย่อมมีอานิสงส์สูงส่ง ด้วยเหตุที่ว่าโลกปัจจุบันมีแต่ความเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการเข่นฆ่าเอาชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการบีบบังคับ หรือไม่ว่าจะเป็นการที่เรียกว่าไม่ถนอมน้ำใจซึ่งกันและกัน ศีลแห่งพระโพธิสัตว์นี้จึงเปรียบประดุจมนุษย์ผู้ต้องการที่พึ่งพาอาศัย มนุษย์ผู้ที่มีความทุกข์ร้อน ขาดความร่มเย็น และเดือดร้อน โดยถูกบีบคั้นด้วยสิ่งกระทบจากภายนอก หากได้มีโอกาสวิ่งเข้ามาอาศัยภายใต้ร่มไม้ใหญ่ ย่อมมีความเยือกเย็น ย่อมมีความสุขสบายกาย ย่อมมีความสดชื่น ย่อมเบาจากสิ่งยึดเหนี่ยวทั้งหลาย

องค์ประกอบของศีลเจพรต
(๑) การไม่เบียดเบียนซึ่งชีวิต เลือดเนื้อ และ วิญญาณ คือ การไม่บริโภคเนื้อสัตว์ หรือนำมาปรุงแต่งเป็นอาหาร หรือสิ่งต่างๆ ที่เจือปนด้วยเนื้อสัตว์ โดยนำแต่พืชผักมาประกอบเป็นอาหารเพื่อการยังชีพเท่านั้น เพราะหากบริโภคสิ่งเหล่านี้ได้ตามส่วน ก็จะมีความสมบูรณ์ต่อการบำรุงร่างกายได้ดีทีเดียว อีกทั้งยังเป็นยารักษา และป้องกันโรคต่างๆ เพื่อที่จะสามารถเพิ่มความสมบูรณ์ต่อร่างกาย ให้มีความแข็งแรงกว่าการบริโภคสิ่งมีชีวิต เลือดเนื้อ และวิญญาณ
(๒) การมีเมตตาธรรม คือ การให้ความช่วยเหลือต่อเหล่ามนุษย์และสัตว์ หรือสิ่งที่มีชีวิตมีวิญญาณทั้งหลาย ด้วยการไม่เบียดเบียน และให้การช่วยเหลือเมื่อตกอยู่ในภาวะลำบาก โดยมีความพร้อมด้วย กาย วาจา ใจ เป็นที่ตั้ง
(๓) มีความยินดีต่อการกระทำของผู้ที่ประกอบกรรมดี โดยแสดงการร่วมอนุโมทนา หรือหากสามารถ ช่วยเหลือในกิจการที่ผู้นั้นกระทำ ก็ย่อมจะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม และต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายได้มากยิ่งๆ ขึ้น นั่นคือ การที่เรียกว่า ยินดีในความดีทั้งปวง
(๔) ความวางเฉยต่อสิ่งทั้งปวงที่เบียดเบียน คือ การไม่ยินดียินร้าย ไม่สนับสนุน และไม่เข้าใกล้ผู้ที่กระทำการเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อหลีกให้พ้นจากความชั่วทั้งหลายเหล่านั้น และ ให้การอโหสิกรรม หรือที่เรียกว่า การให้อภัย เพื่อเป็นทานต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นๆ โดยไม่กระทำการโต้ตอบ

ศีลเจพรตนี้หากจะเรียกว่าเป็น ศีลแห่งความสะอาดบริสุทธิ์ ศีลแห่งความสว่าง และ ศีลแห่งความเบาจากการเบียดเบียน ก็ถูกต้อง เพราะผู้ที่ได้ปฏิบัติตามย่อมพบกับความสะอาดหมดจดบริสุทธิ์ เกิดความสว่างไสวในจิตใจ หันเหจากตัวที่เรียกว่าสิ่งเกาะเกี่ยวหรือกิเลสทั้งปวง หมู่ชนใดที่ถือในศีลเจพรตนี้ย่อมเกิดสันติสุข สงบ ร่มเย็น และ มีความสามัคคีกลมเกลียว มีใจที่บริสุทธิ์ ต่อกันและกัน ผู้ที่เป็นฆราวาสหากได้กระทำการปฏิบัติรักษาศีลอันบริสุทธิ์ คือศีลเจพรตนี้ จิตย่อมมีความสูงขึ้นเพราะว่าเป็นส่วนช่วย สนับสนุนเกื้อกูลส่งเสริมในศีล ๕ ข้อของพระพุทธองค์ให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น
ฆราวาสทั้งหลายจงอย่าได้เข้าใจผิดว่าการบริโภคเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่จะต้องยึดติด หรือเกิดความเสียดายในรสชาติ หรือเกิดความกลัวว่าการบริโภคเพียงแต่พืชผักจะเป็นโทษต่อร่างกาย เพราะสิ่งเหล่านี้ พระมหาโพธิสัตว์ และ พระโพธิสัตว์ ทุกๆ พระองค์ได้ถือปฏิบัติจนได้บรรลุถึงความสุขอันแท้จริง และทรงเป็นผู้ที่มีความเมตตาอย่างสูงส่ง ด้วยการอธิษฐานจิตอยู่คู่โลกเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ และส่งเสริมให้กระทำแต่ความดี ฉะนั้น ทางสายนี้ย่อมเป็นทางประเสริฐ และเกื้อหนุนให้ก้าวเดินเพื่อบรรลุถึงความดีงามต่อไปยิ่งขึ้น

อานิสงส์ของการบำเพ็ญศีลเจพรต
การสมาทานศีลเจพรตเพื่อเว้นจากการเบียดเบียนสัตว์ โดยละจากการบริโภคเนื้อสัตว์ เป็นการ สร้างเมตตาธรรมให้เกิดขึ้นกับจิตใจของผู้ที่สมาทานศีล เพราะเป็นการช่วยให้ ลดละจากความโหดร้ายอำมหิตของจิตใจ หรือ ความดุร้ายที่มีอยู่ในกมลสันดาน ของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม และจะเกิดผลดีอย่างยิ่งต่อผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ เพราะศีลข้อการละจากการเบียดเบียนนี้จะเป็นเครื่อง เสริมการปฏิบัติธรรมให้จิตมีความสงบ เพื่อนำสู่อำนาจสมาธิที่จะชักจูงให้ชีวิตมีความสงบสุข และมีจิตใจที่เยือกเย็น ซึ่งพอจะ สรุปอานิสงส์ได้เป็นหัวข้อดังนี้คือ .-
(๑) หยุดการก่อศัตรู เพิ่มมากขึ้นจนเป็นหนี้กรรมใหม่ ที่เรียกกันว่า เจ้ากรรมนายเวร ทั้งหลาย
(๒) เป็นการ สะสมสร้างบุญกุศล และ สามารถอุทิศให้กับเจ้ากรรมนายเวร ได้อีกทางหนึ่ง
(๓) เป็นผลให้ ก่อเกิดจิตใจโอบอ้อมอารี
(๔) มี พรหมวิหารธรรม คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
(๕) ทำให้ จิตใจ สงบ เยือกเย็น และ บังเกิดผลในการประพฤติปฏิบัติธรรม ได้อย่างรวดเร็ว
(๖) สุขภาพร่างกายแข็งแรงและเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผิวพรรณ หรือทางเดินอาหาร ตลอดจนความเบาบางจากโรคภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการบริโภคเนื้อสัตว์