บทที่ ๙ กำเนิดศาลฟ้าดิน

บทที่ ๙ กำเนิดศาลฟ้าดิน

หากแม้นจะกล่าวถึง การพักกรรม หรือ การชดใช้กรรมทางด้านมหายาน โดยไม่กล่าวถึง “เสด็จพ่อฟ้า” และ “เสด็จแม่ดิน” ก็ดูจะเป็นการไม่สมบูรณ์ เพราะทั้ง ๒ พระองค์เป็น ผู้รักษากฏเกณฑ์พระธรรมชาติ ที่มีอยู่จริง และเป็นผู้ที่ควบคุมเกณฑ์ชะตาของมนุษย์ทุกๆ ผู้ และสิ่งที่ควรตระหนักอย่างยิ่งคือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติเกิดขึ้นก็ด้วยการตรัสรู้จากธรรมชาติ หรือแม้แต่เหล่าพรหมเทพเทวะผู้มีบารมีสูงกว่ามนุษย์ทั้งหลาย ก็ยังต้องให้ความเคารพและนมัสการต่อ “เสด็จพ่อฟ้า เสด็จแม่ดิน”
ฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่มนุษย์ทุกๆ ผู้ควรจะทำความเข้าใจ และให้ความเคารพต่อ “เสด็จพ่อฟ้า เสด็จแม่ดิน” อย่างถูกต้องเช่นกัน เพื่อจะได้เป็นสิริมงคลต่อชีวิตและจิตวิญญาณของตนเองที่ต้องเกิดมาใช้หนี้กรรม และยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารทั้งสิ้น และจะได้ไม่กระทำสิ่งผิดพลาดที่เป็นการฝืนหรือขัดต่อกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ และเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง คณะผู้จัดทำจึงขอนำ ประวัติของการเกิดศาลเสด็จพ่อฟ้าเสด็จแม่ดิน ที่ถูกต้องแท้จริงขึ้นในโลกมาเผยแพร่ต่อท่านผู้อ่านทั้งหลาย เพื่อความศรัทธาและการปฏิบัติที่ถูกต้องสืบต่อไป
เมื่อเวลาหลายพันปีล่วงมาแล้วในอดีตกาล มีหมู่บ้านใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศจีนได้เกิดภัยพิบัติต่างๆ จนเป็นเหตุให้เกิดโรคภัยระบาดไปทั่วทั้งหมู่บ้าน จนแทบจะไม่มีผู้ใดมีชีวิตรอด ทำให้มนุษย์กลุ่มหนึ่งเห็นว่าธรรมชาตินี้ไม่ยุติธรรมเลย ในเมื่อชาวบ้านทั้งหลายก็ไม่เคยได้ก่อกรรมทำเข็ญใดๆ แล้วเหตุไฉนจึงมาลงโทษกันเช่นนี้ และเมื่อเกิดความคิดวิปริตขึ้นมาเช่นนี้แล้ว ผู้ที่รอดชีวิตจากภัยพิบัติในครั้งนั้นจึงพากันสาปแช่งธรรมชาติคือ “ฟ้า” และ “ดิน” เป็นการใหญ่กันทั้งหมู่บ้าน จนร้อนไปถึงเบื้องบนสวรรค์ที่เห็นว่ามนุษย์กลุ่มนี้กระทำสิ่งที่โง่เขลาเบาปัญญา จะพากันสูญพันธุ์ไปเปล่าๆ โดยหาประโยชน์สิ่งใดไม่ได้เลย
โลกสวรรค์จึงได้ส่งเด็กชายผู้หนึ่งลงมาเกิดท่ามกลางธรรมชาติ และส่งเสียงร้องออกมา ๙ ครั้ง เป็นสัญลักษณ์ว่าฟ้าให้มาเกิดโดยไม่มีหลังคาครอบคลุม โดยที่ฝนก็ตกลงมาอย่างหนักจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น แล้วก็เกิดมีเหตุอัศจรรย์ต่างๆ เกิดขึ้นกับชาวบ้านหมู่บ้านนั้น คืออาการของผู้ที่เจ็บป่วยอยู่ก็อันตรธานหายไป พืชพันธ์ธัญญาหารก็กลับอุดมสมบูรณ์ไปทุกสิ่งทุกอย่าง
เมื่อเด็กชายผู้นั้นเติบโตเป็นหนุ่มขึ้นมา ก็ได้ป่าวประกาศให้รู้กันไปทั่วว่า ธรรมชาติที่มีประโยชน์คือ “ฟ้า” และ “ผืนแผ่นดิน” ที่เราอาศัยอยู่นี้ มีคุณค่าอย่างมหาศาลต่อมนุษย์” จนชาวบ้านละแวกนั้นเกิดความเข้าใจ และเลื่อมใสศรัทธาขึ้นมา และร่วมแรงร่วมใจกันจัดเป็น สถานที่บูชาฟ้าดิน ขึ้นกลางแจ้ง พร้อมมูลด้วยเครื่องสักการะบูชาตลอดจนธัญญาหารต่างๆ ที่นำมาประกอบการสังเวยในพิธี
ต่อมาชายหนุ่มผู้นี้ได้เกิดมีความรู้พิเศษขึ้นมาอย่างกะทันหัน คือรู้ถึงการประกอบพิธีการต่างๆ รู้ถึงการที่มนุษย์เราทั้งหลายมีทุกข์นานาประการ และรู้ว่าแต่ละผู้ก็มีแต่โลภโมโทสันต์ต่างๆ นานา จึงได้มีการกำหนดกฏเกณฑ์ขึ้นว่าการขอพรต่อธรรมชาติเพื่อแก้ไขดวงเกณฑ์ชะตาชีวิต จะต้องมีการให้สัจจะที่จะละจากสิ่งไม่ดีสิ่งหนึ่งที่มนุษย์ทุกผู้ทุกนามมักจะมีข้อเสียอยู่ในตนเองทั้งสิ้น
ชายหนุ่มผู้นี้ก็ได้ป่าวประกาศออกไปให้ชาวบ้านทั้งหลายได้รู้กันว่า หากผู้ใดจะมาขอพรสิ่งใดจากศาลฟ้าดิน ก็จะต้องมีสัจจะในการละเว้นจากสิ่งที่ตนเองกระทำชั่วอยู่ ๑ อย่าง โดยให้สัจจะนั้นต่อฟ้าและดิน คือ “เสด็จพ่อฟ้า เสด็จแม่ดิน” ที่เรียกเป็นภาษาจีนว่า “ที ตี่ แป่ บ๊อ” ซึ่งชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นก็มีศรัทธา ให้สัจจะในการละจากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง และผู้อื่น โดยที่ชายหนุ่มผู้นี้สอนให้ชาวบ้านตั้งจิตอธิษฐานขอในสิ่งที่เป็นไปได้ และมีการสอนให้รู้จักไปฟังคำสั่งสอน และรู้จักการถือศีลเจของพระมหาโพธิสัตว์ เพื่อให้รู้ว่าตัวเองกำลังเบียดเบียนตนเองหรือผู้อื่นในสิ่งใด และเช่นใดบ้าง
สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือกำเนิดของศาลฟ้าดินที่อุบัติขึ้นเป็นแห่งแรกในโลก ก่อนพุทธกาลเมื่อหลายพันปีล่วงมาแล้ว โดย มนุษย์ผู้ซึ่งจุติมาจากสวรรค์ ซึ่งต่อมาได้สร้างบารมีจนสำเร็จเป็นเซียน “โจ๊ว ซือ ลี่ เล่า กุน” ผู้ได้สร้างศาลฟ้าดินที่เป็นประโยชน์ต่อชาวโลกไว้เพียงแห่งเดียวในครั้งนั้น จวบจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นยุคเข็ญของพุทธศาสนาตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงทำนายเอาไว้แล้ว
นับตั้งแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา มนุษย์ทั้งหลายที่มีความเข้าใจบ้าง และไม่เข้าใจบ้าง สุดแล้วแต่สภาพจิตใจของมนุษย์ที่จะยึดมั่นเชื่อถือในการกระทำ ก็ได้มีมนุษย์บางผู้นำมาจำลองสร้างเป็นศาลฟ้าดินขึ้น โดยเมื่อมีการสร้างโรงเจหรือศาลเจ้าก็ดี ก็จะต้องมีการสร้างศาลฟ้าดินขึ้นด้วย ซึ่งศาลที่จำลองมานี้ย่อมที่จะถูกลักษณะบ้าง หรือไม่ถูกลักษณะบ้าง และผู้ที่ประกอบพิธีตั้งศาลก็เป็นผู้ที่มีจิตแก่กล้าบ้าง และไม่มีบ้าง หรือแม้แต่ผู้ที่จะประกอบการสร้างนั้นก็ทำด้วยศรัทธา หรือทำด้วยการทำตามอย่างผู้อื่น หรือฟังผู้อื่นเล่าต่อกันมาบ้าง ก็ย่อมที่จะไม่เกิดความสมบูรณ์ถูกต้องตามกำหนดของธรรมชาติ