บทที่ ๑๑ การอุทิศอานิสงส์บุญกุศล

บทที่ ๑๑ การอุทิศอานิสงส์บุญกุศล

คำว่า “กุศล” หมายถึง “บุญ” หรือ “กรรมดี” และคำว่า “อุทิศ” หมายถึง “การให้” ดังนั้น การอุทิศอานิสงส์บุญกุศลในที่นี้จึงหมายถึงการตั้งจิตอุทิศบุญกุศลที่เกิดจากผลของกรรมดี ที่ได้มีการกระทำตามสัจจะวาจาของตนเองที่ได้ให้ไว้ต่อ “เสด็จพ่อฟ้า เสด็จแม่ดิน” และ “พระมหาโพธิสัตว์” เพื่อเป็นการชดใช้หนี้กรรมต่อท่านเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายให้อโหสิกรรมต่อกัน และเลิกจากการอาฆาตพยาบาทจองเวรซึ่งกันและกัน ซึ่งเราสามารถที่จะตั้งจิตอุทิศอานิสงส์ผลบุญที่เกิดจากการกระทำของตัวเราเองได้ ๓ วิธีคือ
๑.) การกรวดน้ำ คือ การตั้งใจอย่างแน่วแน่เพื่ออุทิศบุญกุศลให้กับท่านเจ้ากรรมนายเวร ด้วยการหลั่งรินน้ำที่สะอาดเป็นเครื่องหมาย และเป็นเครื่องรวมกระแสจิตเพื่ออุทิศอานิสงส์ผลบุญให้ตกสู่ท่านเจ้ากรรมนายเวร และนำน้ำที่กรวดไปเทลงที่ให้ต้นไม้ใหญ่ โดยอธิษฐานขอต่อพระแม่ธรณี เพื่อการนำอานิสงส์ผลบุญไปสู่เจ้ากรรมนายเวรอีกต่อหนึ่ง
๒.) การจุดธูปบอกกล่าว คือ การตั้งจิตอธิษฐานโดยใช้ธูปเป็นสื่อในการบอกกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อการเมตตานำอานิสงส์บุญกุศลไปสู่ท่านเจ้ากรรมนายเวร หรือหากมีจิตใจที่มั่นคงก็สามารถตั้งจิตบอกกล่าว เพื่ออุทิศอานิสงส์บุญกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวรโดยตรง
๓.) การนั่งปฏิบัติสมาธิ คือ การนำผลของการทำสมาธิให้จิตเกิดความสงบ ที่ก่อเกิดเป็นพลังของกระแสจิตที่แน่วแน่ และสามารถที่จะอุทิศอานิสงส์บุญกุศลให้กับท่านเจ้ากรรมนายเวรได้โดยตรงอีกทางหนึ่ง

( ตัวอย่างการกล่าวอุทิศอานิสงส์บุญกุศล )
“ข้าพเจ้าขอตั้งจิตอุทิศอานิสงส์บุญกุศลที่ก่อเกิดจากการกระทำตามสัจจะที่ตั้งไว้ เพื่อเป็นการชดใช้หนี้กรรมให้กับเหล่าท่านเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย ที่ข้าพเจ้าเคยล่วงเกินด้วยกาย วาจา ใจ ทั้งในอดีตและในชาติปัจจุบันโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนเกิดเป็นหนี้กรรมซึ่งกันและกัน
ขอให้ท่านทั้งหลายจงอนุโมทนารับอานิสงส์บุญกุศลในครั้งนี้ และได้โปรดอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้า และขออย่าได้จองเวรซึ่งกันและกันสืบต่อไป โดยขอตั้งจิตอุทิศกุศลผลบุญของข้าพเจ้าทุกๆ ครั้ง และทุกๆ ด้านให้แก่ท่านทั้งหลาย เพื่อให้หมดหนี้กรรมต่อกัน”
หมายเหตุ ๑.) ในกรณีที่อุทิศส่วนกุศลเฉพาะตนเอง ให้ตั้งจิตอธิษฐานกล่าวคำอุทิศในใจทั้ง ๓ วิธี
๒.) ในกรณีที่อุทิศส่วนกุศลเป็นหมู่คณะ ก็ให้กระทำตามวิธีที่ ๑ คือการกรวดน้ำ โดยให้นำน้ำสะอาดใส่ขันแล้ววางไว้ข้างหน้าหรือตรงกลางหมู่คณะ แล้วคล้องสายสิญจน์จากขันน้ำโยงมาให้ทุกผู้จับไว้ และให้มีผู้ที่นำกล่าวอุทิศส่วนกุศลตามตัวอย่างข้างต้น โดยให้ทุกๆ ผู้ ตั้งจิตอธิษฐานตามด้วยจิตที่เป็นสมาธิแน่วแน่ หรือไม่วอกแวก